
รู้จักการเมือง ผ่านหนังสือทั้ง 5 เล่ม ของประจักษ์ ก้องกีรติ
ถ้าใครตามข่าวการเมืองอยู่บ่อย ๆ แล้วคงต้องรู้จักกับ ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำสาขาวิชา การเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อย่างแน่นอน เพราะไม่ว่าจะมีประเด็นทางการเมืองอะไร เป็นอันต้องการไปสัมภาษณ์สอบถามความคิดของเขาโดยตลอด วันนี้เรามาทำความรู้จักเขาคนนี้และ รู้จักการเมือง ผ่านหนังสือทั้ง 5 เล่ม ของเขากัน
รู้จักการเมือง ผ่านหนังสือทั้ง 5 เล่ม ของประจักษ์ ก้องกีรติ
และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ

การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นภายใต้สภาวะทางการเมืองเริ่มคุกรุ่นด้วยวาทกรรมพระราชอำนาจซึ่งก่อตัวมาตั้งแต่ 14 ตุลาฯ เริ่มกลับมาทำงานอีกครั้ง จนนำไปสู่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แล้วเราก็ได้เห็นปรากฎการณ์ที่ปัญญาชน 14 ตุลาฯ จำนวนมากซึ่งครั้งหนึ่งเคยต่อสู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน กลับขานรับรัฐประหารในครั้งนี้
หนังสือเล่มนี้ช่วยทำความเข้าใจว่า ปรากฎการณ์ดังกล่าวมิได้เป็นเหตุบังเิอิญทางประวัติศาสตร์ หากแต่มีเชื้อมูลมาตั้งแต่ก่อน 14 ตุลาฯ ที่วาทกรรมพระราชอำนาจ หรือ “ราชาชาตินิยมประชาธิปไตย” ยังคงทำงานอย่างทรงพลังในทางการเมือง และยิ่งทำให้ตระหนักว่าประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลาฯ นั้นมีข้อจำกัดอย่างไร
ข้อเด่นของผลงานของอาจารย์ประจักษ์ในบรรดางานวิชาการเกี่ยวกับการเมืองวัฒนธรรมไทยที่ผ่านมาอยู่ตรงมันเป็นความพยายามศึกษาวิจัยประวัติการเมืองวัฒนธรรมไทยที่นำไปสู่เหตุการณ์ลุกขึ้นสู้ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 อย่างกว้างขวางครอบคลุม เป็นระบบหลากหลายด้านและเจาะลึกที่สุด ในกระบวนการนั้น เขาได้เสนอ ชุดคำอธิบายที่มีหลักฐานเหตุผลรองรับหนักแน่นน่ารับฟังต่อปริศนาชวนฉงนสำคัญบางประการที่เคยมีผู้ตั้งข้อสังเกตุไว้เกี่ยวกับประวัติการเมืองไทยสมัยใหม่
- ผู้เขียน: ประจักษ์ ก้องกีรติ
- สำนักพิมพ์: ฟ้าเดียวกัน
- พิมพ์เมื่อ: มกราคม 2556
ประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่าน

ในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยน(ไม่)ผ่านของสังคมไทยในปัจจุบันผู้เขียนได้แต่หวังใจว่าบทความต่างๆ ในเล่มนี้จะช่วยสมทบส่วนในการสร้างความรู้และข้อถกเถียงให้กับวงวิชาการไทยในเรื่องประชาธิปไตย ความรุนแรง และความยุติธรรม
ผู้เขียนเชื่ออย่างจริงใจว่าวิกฤตการเมืองรอบนี้มิใช่เพียงวิกฤตการเมืองของการแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์เพียงเท่านั้น หากเป็นวิกฤตทางความคิดของสังคมไทยทั้งหมด จะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้โดยไม่นองเลือดและบอบช้ำ ก็ต้องช่วยกันประคับประคองและหล่อเลี้ยงให้สังคมไทยใช้สติและปัญญาให้มากที่สุด…ในระยะยาว
เราต้องช่วยกันรื้อถอนมายาคติและการโฆษณาชวนเชื่อที่ครอบงำสังคมไทย และยกระดับให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ถกเถียงกันด้วยข้อมูลและความรู้อย่างเสรี เปิดกว้างและเคารพกันและกัน มิเช่นนั้นเราคงต้องติดอยู่ในกับดักของอำนาจนิยมและความรุนแรงไปอีกนานแสนนาน
- ผู้เขียน: ประจักษ์ ก้องกีรติ
- สำนักพิมพ์: ฟ้าเดียวกัน
- จำนวนหน้า: 469 หน้า
- พิมพ์เมื่อ: เมษายน 2558
การเมืองวัฒนธรรมไทย ว่าด้วยความทรงจำ วาทกรรม อำนาจ

หนังสือเล่มนี้รวบรวมงานเขียนของผู้เขียนในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมาเกี่ยวกับการเมืองวัฒนธรรม ผู้อ่านหลายท่านคงสงสัยว่าแล้ว “การเมืองวัฒนธรรม” คืออะไร ผู้เขียนรู้จักคำว่า “การเมืองวัฒนธรรม” ครั้งแรก จากการอ่านงานของอาจารย์เกษียร เตชะพีระ ตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนมัธยมและเริ่มสนใจเรื่องการบ้านการเมือง (ซึ่งในที่สุดก็ทำให้เส้นทางชีวิตหักเหจากนักเรียนสายวิทย์ฯ มาเรียนทางด้านรัฐศาสตร์ในเวลาต่อมา) เมื่อครั้งที่อ่านเจอศัพท์แสงนี้ครั้งแรก ก็ไม่สู้เข้าใจเท่าไรนักว่ามันหมายถึงอะไรกันแน่ เพราะสติปัญญาและความรับรู้ยังจำกัดมากในขณะนั้น เท่าที่เคยอ่านหนังสือมาบ้าง ก็รู้สึกคุ้นกับอีกคำหนึ่งมากกว่าคือ คำว่า “วัฒนธรรมการเมือง” สรุปคือ ครั้งแรกที่ได้เจอคำนี้ บังเกิดแต่ความงุนงงมากกว่าความเข้าใจ ต่อมาเมื่อได้เข้าเรียนในคณะรัฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีโอกาสเรียนกับอาจารย์เกษียรซึ่งเป็นผู้บุกเบิกการศึกษาการเมืองไทยในแนวการเมืองวัฒนธรรมโดยตรง ผู้เขียนจึงค่อยๆ เข้าใจคำๆ นี้มากขึ้น ว่ามันคือแนวทางการศึกษาวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจโลกทางการเมืองและปรากฏการณ์ทางสังคมการเมืองที่น่าตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อได้อ่านงานของนักวิชาการทั้งไทยและเทศที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวางและแตกแขนงออกไปมากขึ้น
- ผู้เขียน: ประจักษ์ ก้องกีรติ
- สำนักพิมพ์: ฟ้าเดียวกัน
- พิมพ์ครั้งที่ 1 — ตุลาคม 2558
When We Vote: พลวัตการเลือกตั้งและประชาธิปไตยในอาเซียน

“ปราศจากการเรียนรู้จากสังคมอื่น ก็ยากที่เราจะเข้าใจประเทศของตนเองอย่างถ่องแท้ และหากปราศจากการย้อนกลับไปมองที่มาที่ไปในอดีต ก็ยากที่เราจะเข้าใจสภาพปัญหาทางการเมืองในปัจจุบัน”
ขณะที่การเมืองการเลือกตั้งของไทยก้าวถอยหลังและชะงักงันเพราะการครองอำนาจของเผด็จการ การเมืองการเลือกตั้งในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ สามประเทศที่น่าจับตามองที่สุดในอุษาคเนย์กลับเปลี่ยนแปลงอย่างสูงในเงื่อนไขที่ต่างกัน ราวกับจะยืนยันให้เห็นความเป็นไปได้และคลื่นของความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ทำให้การเลือกตั้งมิได้หยุดนิ่งและถูกผูกขาดโดยชนชั้นนำกลุ่มเดิมจำนวนน้อยอีกต่อไป
ร่วมวงสนทนากับแนวทางการศึกษาแบบสถาบันนิยม ทฤษฎีการสร้างประชาธิปไตย การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย ตามเข้าไปสำรวจความเป็นจริงในพื้นที่ ฟังข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ ยื่นหน้าไปดูตัวเลขสถิติ และกลับเข้าสู่การถกเถียงถึงโอกาส ความหวัง ความฝัน และ ความจริงจากการศึกษาเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการเลือกตั้งในประเทศเพื่อนบ้าน ย้อนกลับมาเปรียบเทียบและทบทวนสถาณการณ์การเมืองการเลือกตั้งของไทย–ประเทศซึ่งตั้งไข่และล้มลุกคลุกคลานมากว่า 88 ปี ในการสร้างกระบวนการเลือกตั้งที่มีคุณภาพและประชาธิปไตยที่ยั่งยืน
- ผู้เขียน: ประจักษ์ ก้องกีรติ
- สำนักพิมพ์: มติชน
- จำนวนหน้า: 336 หน้า ปกอ่อน
- พิมพ์ครั้งที่ 1 — กรกฎาคม 2563
ประชาธิปไตย: หลากความหมาย หลายรูปแบบ

“ในบรรดาคำและแนวคิดทางการเมืองที่แพร่หลายในสาธารณะคงไม่มีคำใดที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงและนิยามอย่างหลากหลายเท่ากับคำว่า ประชาธิปไตย (ซึ่งแปลมาจากคำภาษาอังกฤษ democracy) ปราฎการณ์ที่ ประชาธิปไตย ถูกเข้าใจ พลิกแพลง ดัดแปลง ต่อเติม เสริมความหมายจะแตกต่างกันไปสำหรับแต่ละบุคคลและกลุ่มทางสังคมเป็นปราฏการณ์ที่เกิดขึ้นเนิ่นนานนับแต่สมัยอดีตและยังดำรงสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน”
- ผู้เขียน: ประจักษ์ ก้องกีรติ
- สำนักพิมพ์: ศยามปัญญา
- จำนวนหน้า: 200 หน้า ปกอ่อน
- พิมพ์ครั้งที่ 1 — กรกฎาคม 2563
หนังสือทั้ง 5 เล่ม ของ ประจักษ์ ก้องกีรติ ยังสามารถซื้อได้บนเว็บไซต์ออนไลน์ และร้านขายหนังสือได้ทั่วไป หากใครเคยอ่านแล้วอย่าลืมมาแชร์ความรู้กันบ้างนะคะ
ใครที่กำลังมีปัญหาคิดงานไม่ออก สมองตันไม่ทำงาน จะทำงานต่อก็ทำไม่ได้ เพราะไม่รู้จะทำอะไรดี หรือคิดออกแต่สิ่งที่คิดได้ กลับไม่ได้ดั่งใจหวังเสียที เลยอยากจะมาบอก 5 วิธีที่จะช่วยเรา ปลุกสมอง ให้ตื่นให้คิดงานออกอย่างสร้างสรรค์ดั่งใจหวังกัน จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลย
อ่านบทความเพิ่มเติม “เคล็ดลับตื่นเช้า” สำหรับมนุษย์เงินเดือน

